วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

ตรุษจีน

  ประวัติของวันขึ้นปีใหม่ของจีนมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในวัฒนธรรมอื่นๆ ความปรารถนาสิ่งที่เราหวังว่าจะได้ปรับปรุง หรือที่เราคิดทำเมื่อเริ่มต้นในเทศกาลวันปีใหม่ มาถึงตอนนี้ ถ้าไม่ถูกลืมก็ถูกยัดลงกล่องใส่ตู้ปิดตายและแปะหน้าตู้ว่าไม่แน่ เอาไว้ทำปีหน้าแล้วกันอย่างไรก็ดี ความหวังก็คงยังไม่สูญไปทั้งหมดเพราะโอกาสที่สองกำลังมาถึงแล้วกับการฉลอง วันปีใหม่จีน หรือที่เรารู้จักกันว่า ตรุษจีน
          ตรุษจีน นั้นคล้ายคลึงกับวันปีใหม่ในประเทศทางตะวันตก ร่องรอยของประเพณี และพิธีกรรมความเป็นมาของการฉลอง ตรุษจีน นั้นมีมานานกว่าศตวรรษ จริงๆแล้วนานมาก จนไม่สามารถย้อนกลับไปดูว่าเริ่มต้นฉลองมาตั้งแต่เมื่อไร เป็นที่รู้จักและจำได้ทั่วไปว่าเป็น การฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ และการฉลองเป็นเวลานานถึง 15 วัน การเตรียมงานฉลองส่วนใหญ่จะเริ่มหนึ่งเดือนก่อน วันตรุษจีน (คล้ายกับวัน คริสต์มาสของประเทศตะวันตก) เมื่อผู้คนเริ่มซื้อของขวัญ, สิ่งต่างๆ เพื่อประดับบ้านเรือน, อาหารและเสื้อผ้า การทำความสะอาดครั้งใหญ่ก็เริ่มขึ้นในวันก่อนตรุษจีน บ้านเรือนจะถูก ทำความสะอาดตั้งแต่บนลงล่างหน้าบ้านยันท้ายบ้าน ซึ่งหมายถึงการกวาดเอาโชคร้าย ออกไป ประตูหน้าต่างมีการขัดสีฉวีวรรณทาสีใหม่ซึ่งสีแดงเป็นสีนิยม ประตูหน้าต่างจะถูก ประดับประดาด้วยกระดาษที่มีคำอวยพรอย่างเช่น อยู่ดีมีสุข ร่ำรวย และอายุยืนเป็นต้น
          วันก่อนวันตรุษจีนนั้นเป็นวันแห่งการการรอคอยจะว่าไปถือวันที่น่าตื่นเต้น มากที่สุด ในบรรดาการฉลองทั้งหมดเห็นจะได้ ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ นั้นผูกไว้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ อาหาร ไปจนถึงเสื้อผ้า อาหารค่ำนั้นประกอบด้วยอาหารทะเล และอาหารนึ่งเช่นขนมจีบ ซึ่งแต่ละอย่างจะมีความหมายต่างๆกัน อาหารอันโอชะอย่างเช่นกุ้งจะหมายถึงชีวิตที่รุ่งเรือง และความสุข เป๋าฮื้อแห้งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี สลัดปลาสดจะนำมาซึ่งโชคดี จี้ไช่ (ผมเทวดา) สาร่ายดูคล้ายผมแต่กินได้จะนำความความร่ำรวยมาให้ และขนมต้ม (Jiaozi) หมายถึงบรรพชนอวยพร และเป็นธรรมดาเสื้อผ้าที่ใส่สีแดงถือเป็นสีที่เป็นมงคลเป็นการไล่ปีศาจร้าย ให้ออกไป และการใส่สีดำหรือขาวเป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งสีเหล่านี้ถือว่าเป็นสีแห่งการไว้ทุกข์ หลังจากอาหารค่ำทุกคนในครอบครัวนั่งกันจนเช้าเพื่อรอวันใหม่โดยการเล่นเกม เล่นไพ่ หรือดูรายการทีวีที่เกี่ยวกับวันตรุษจีน และในวันนี้จะต้องไม่โกรธ ริษยา หรือ ไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง
          เมื่อถึง วันตรุษจีน ประเพณีตั้งแต่โบราณมาเรียกว่า อังเปา ซึ่งหมายถึง กระเป๋าแดง เป็นการที่คู่แต่งงานให้เงินเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้แต่งงานในซองสีแดง หลังจากนั้นทุกคน ในครอบครัว ต่าง ออกมาเพื่อคำอวยพรวันปีใหม่กล่าวสวัสดีปีใหม่ เริ่มจากญาติๆ แล้วต่อด้วยเพื่อนบ้าน โดยส่วนใหญ่คำอวยพรวันปีใหม่จะพูดว่า "ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ" ซึ่งคงคล้ายกับการที่ชาวตะวันตกพูดว่า "Let bygones be bygones" (อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ให้มันผ่านไป) ใน วันตรุษ นี้อารมณ์โมโหโกรธาจะถูกลืม และไม่สนใจ การฉลอง วันตรุษจีน สิ้นสุดลงในงานโคมไฟ ซึ่งฉลองโดยการร้องเพลง เต้นรำ และงานแสดงโคมไฟ ถึงแม้ว่าการฉลอง วันตรุษจีน จะมีแตกต่างกันออกไปแต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ การอวยพร ความสงบ และความสุขให้กับคนในครอบครัวและเพื่อนทุกคน
ตำนานความเป็นมาของวันตรุษจีน
ตรุษจีน เป็นวันสำคัญของจีนที่มีมาแต่โบราณที่เรียกว่า “กว้อชุนเจี๋ย” หรือ “กว้อเหนียน” เล่ากันว่าในสมัยโบราณ ในป่าทึบแห่งหนึ่ง มีสัตว์ป่าที่ดุร้ายและน่ากลัวมากตัวหนึ่ง เรียกว่า “เหนียน” มันออกอาละวาดกินคนเป็นประจำ พระเจ้าจึงลงโทษมัน อนุญาตให้มันลงมาจากเขาได้เพียงหนึ่งครั้งใน 365 วัน ดังนั้น เมื่อฤดูหนาวใกล้จะผ่านไป ฤดูใบไม้ผลิเวียนมาใกล้ เหนียน ก็จะออกมาทำร้ายผู้คน เพื่อป้องกันการมาของ เหนียน ทุก ๆ ครัวเรือนจึงต่างสะสมเสบียงอาหาร และกับข้าวจำนวนหนึ่งไว้ในบ้าน เมื่อถึงตอนค่ำของวันที่ 30 เดือน 12 ก็จะปิดประตูและหน้าต่างเอาไว้ ไม่หลับไม่นอนตลอดคืน เพื่อต่อสู้กับ เหนียน จนกระทั่งถึงรุ่งเช้าก็จะเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 1 เมื่อ เหนียน กลับไปแล้ว ทุก ๆ ครัวเรือนก็จะเปิดประตูออกมาแสดงความยินดีต่อกัน ที่โชคดีไม่ได้ถูก เหนียน ทำร้าย
ต่อมาพบว่า เหนียน มีจุดอ่อน มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อเหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังหวดแส้เล่นกันเมื่อ เหนียน ได้ยินเสียงแส้ดังเปรี้ยงปร้างก็เลยตกใจเผ่นหนีไป เมื่อ เหนียน ไปถึงหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง เห็นมีชุดเสื้อผ้าสีแดงตากอยู่หน้าบ้านของครอบครัวหนึ่ง สีแดงฉูดฉาดนั้น ทำให้ เหนียน ตกใจและเผ่นหนีไปอีก เมื่อ เหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งที่สาม ปรากฏว่าไปพบเห็นกองเพลิงกองหนึ่งบนถนน แสงเพลิงที่เจิดจ้าทำให้ เหนียน ต้องเผ่นหนีไปอีก ตั้งแต่นั้นมา ผู้คนต่างรู้ว่า แม้ว่า เหนียน จะดุร้ายแต่มันก็กลัวสีแดง เสียงดังและไฟ ทำให้ผู้คนสามารถคิดหาวิธีกำจัด เหนียน ได้โดยไม่ยากนัก
 เมื่อวันส่งท้ายตรุษจีนเวียนมาอีกครั้งหนึ่ง ทุกๆ ครัวเรือนจึงต่างนำกระดาษสีแดงมาติดไว้บนประตูหน้าบ้าน แขวนโคมไฟสีแดง พร้อมกับจุดประทัดและตีฆ้องรัวกลองอย่างต่อเนื่อง เมื่อ เหนียน มาถึงในตอนเย็น เห็นทุก ๆ ครัวเรือนมีแสงไฟสว่างไสว มีเสียงประทัดดังสนั่นจึงตกใจเผ่นหนีกลับเข้าป่าไป และไม่กล้าออกมาอาละวาดอีก ทุก ๆ คนจึงผ่านพ้นคืนแห่งอันตรายไปอย่างปลอดภัย เมื่อฟ้าสางแล้ว ผู้คนจึงออกมาจากบ้าน กล่าวคำอวยพรซึ่งกันและกันอย่างมีความสุข พร้อมกับการนำอาหารออกมารับประทานร่วมกันอย่างสนุกสนาน

วันตรุษจีน
อาหารไหว้เจ้า ของไหว้ตรุษจีน
     ในวันฉลองตรุษจีนอาหารจะถูกรับประทานมากกว่าวันไหนๆในปี อาหารชนิดต่างๆที่ปฏิบัติกันจนเป็นประเพณี จะถูกจัดเตรียมเพื่อญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง รวมไปถึงคนรู้จักที่ได้เสียไปแล้ว ในวันตรุษครอบครัวชาวจีนจะทานผักที่เรียกว่า ไช่ ถึงแม้ผักชนิดต่างๆที่นำมาปรุง จะเป็นเพียงรากหรือผักที่มีลักษณะเป็นเส้นใยหลายคนก็เชื่อว่าผักต่างๆมีความหมายที่เป็นมงคลในตัวของมัน

ความหมายของ ของไหว้วันตรุษจีน
เม็ดบัว - มีความหมายถึง การมีลูกหลานที่เป็นชาย
เกาลัด - มีความหมายถึง เงิน
ถั่วตัด  - หมายถึง แท่งเงิน
สาหร่ายดำ - คำของมันออกเสียงคล้าย ความร่ำรวย
เต้าหู้หมักที่ทำจากถั่วแห้ง - คำของมันออกเสียงคล้าย เต็มไปด้วยความร่ำรวย และ ความสุข
หน่อไม้ - คำของมันออกเสียงคล้าย คำอวยพรให้ทุกอย่างเต็มไปด้วยความสุข
เต้าหู้ที่ทำจากถั่วสดนั้นจะไม่นำมารวมกับอาหารในวันนี้เนื่องจากสีขาวซึ่ง เป็นสีแห่งโชคร้าย สำหรับปีใหม่และหมายถึงการไว้ทุกข์
ของไหว้ตรุษจีน ขนมไหว้วันตรุษจีน
    1.ขนมเข่ง คือ ความหวานชื่น ราบรื่นในชีวิต ขนมเข่งที่ใส่ในชะลอม หมายถึง ความหวานชื่นอันสมบูรณ์
    2.ขนมเทียน คือ เป็นขนมที่ปรับปรุงขึ้นจากชาวจีนโพ้นแผ่นดินดัดแปลงมาจากขนมท้องถิ่นของไทย จากขนมใส่ไส้เปลี่ยนจากแป้งข้าวเจ้าผสมกะทิมาเป็นแป้งข้าวเหนียวแทน มีความหมายหวานชื่น ราบรื่น รูปลักษณ์เป็นกรวยแหลมมีลักษณะเป็นมงคลเหมือนเจดีย์
    3.ขนมไข่ คือ ความเจริญเติบโต
    4.ขนมถ้วยฟู คือ ความเพิ่มพูนรุ่งเรือง เฟื่องฟู
    5.ขนมสาลี่ คือ รุ่งเรือง เฟื่องฟู
    6.ซาลาเปา หรือ หมั่นโถว คือ ไหว้เพื่อให้เปาไช้ แปลว่าห่อโชค
    7.จันอับ (จั๋งอั๊บ) หมายถึง ปิ่นโต หมายถึงความหวานที่เพิ่มพูน มีความสุขตลอดไป
         
อาหารอื่นๆ รวมไปถึงปลาทั้งตัว เพื่อเป็นตัวแทนแห่งการอยู่ร่วมกัน และความอุดม- สมบรูณ์ และไก่สำหรับความเจริญก้าวหน้า ซึ่งไก่นั้นจะต้องยังมีหัว หางและเท้าอยู่ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ เส้นหมี่ก็ไม่ควรตัดเนื่องจากหมายถึงชีวิตที่ยืนยาว
ทางตอนใต้ของจีน จานที่นิยมที่สุดและทานมากที่สุดได้แก่ ข้าวเหนียวหวานนึ่ง บ๊ะจ่างหวาน ซึ่งถือเป็นอาหารอันโอชะ ทางเหนือ หมั่นโถ และติ่มซำ เป็นอาหารที่นิยม อาหารจำนวน มากที่ถูกตระเตรียมในเทศกาลนี้มีความหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์และความร่ำรวยของบ้าน

วันกองทัพไทย

๑๘ มกราคม วันกองทัพไทย

ในวันที่ 18 มกราคม 2550 ประกาศเป็นวันกองทัพไทยเป็นปีแรก ซึ่งก่อนหน้านี้คือ“วันยุทธหัตถี” หรือที่เรียกว่า “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”


“วันยุทธหัตถี” หรือที่เรียกว่า “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” หมายถึง วันที่ระะลึกที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อสมเด็จพระมหาอุปราชาของพม่า เมื่อวันจันทร์ เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔ อันตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘ กำหนดให้วันที่ ๑๘ มกราคม ของทุกปีเป็น “วันยุทธหัตถี” (แทนวันที่ ๒๕ มกราคม เนื่องจากนายประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต ได้คำนวณแล้วพบว่าการนับวันทางจันทรคติของวันกระทำยุทธหัตถีเดิมที่ตรงกับวันจันทร์ เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔ ที่กำหนดเป็นวันที่ ๒๕ มกราคมนั้น คลาดเคลื่อน จึงได้มีการเปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริง) และถือวันนี้เป็นวันรัฐพิธี โดยให้มีการวางพานพุ่มสักการะ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ


ยุทธหัตถี หมายถึง การต่อสู้ด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นการรบอย่างกษัตริย์สมัยโบราณ ถือเป็นคติมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่า ยุทธหัตถีหรือการชนช้างเป็นยอดยุทธวิธีของนักรบ เพราะเป็นการต่อสู้อย่างตัวต่อตัว แพ้ชนะกันด้วยความคล่องแคล่วแกล้วกล้า กับการชำนิชำนาญในการขับขี่ช้างชน โดยมิต้องอาศัยรี้พลหรือกลอุบายแต่อย่างใด เพราะโดยปกติ ในการทำสงครามโอกาสที่จอมทัพทั้งสองฝ่ายจะเข้าใกล้ชิดจนถึงชนช้างกันมีน้อยมาก ดังนั้น กษัตริย์พระองค์ใดกระทำยุทธหัตถีชนะก็จะได้รับการยกย่องว่า มีพระเกียรติยศสูงสุด และแม้แต่ผู้แพ้ก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นนักรบแท้


ในสมัยอยุธยามีการยุทธหัตถี รวม ๓ ครั้ง คือ ครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระ อินทราชาพระเจ้าลูกยาเธอได้ชนช้างกับข้าศึกที่นครลำปาง และถูกปืนสิ้นพระชนม์ ครั้งที่สองในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ ได้ชนช้างกับพระเจ้าแปรกรุงหงสาวดี และสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ต้องอาวุธข้าศึกทิวงคต และครั้งที่สาม ก็คือครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนช้างกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี จนได้รับชัยชนะ ซึ่งยุทธหัตถีครั้งนี้กล่าวกันว่าเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ และเป็นวีรกรรมครั้งสำคัญที่ทำให้พระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นที่เลื่องลือไปไกล

หลังจากนั้นเป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าไม่มีข้าศึกใดกล้ายกทัพมารุกรานเรานานถึง ๑๕๐ ปี ดังนั้น ในโอกาสครบรอบ ๔๑๕ ปีแห่งวันกระทำยุทธหัตถีจนได้รับชัยชนะ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำพระราชประวัติโดยย่อของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์


สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ ๑๘ แห่งราชอาณาจักรศรีอยุธยา เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลก เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๐๙๘ ทรงมีสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์สุโขทัยองค์แรกที่ครองกรุงศรีอยุธยาเป็นพระบิดา และมีพระวิสุทธิกษัตรี ผู้เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และพระสุริโยทัยวีรกษัตรีย์ของไทยเป็นพระมารดา จึงอาจกล่าวได้ว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงได้รับพระสายโลหิตความเก่งกล้าสามารถสืบเนื่องมาจากพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทางพระชนก และเลือดพระสุริโยทัยซึ่งเป็นสมเด็จพระอัยยิกา(ยาย)ทางพระมารดา


ทรงมีพระสุพรรณกัลยา เป็นพระพี่นาง และมีพระเอกาทศรถเป็นพระอนุชา เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่เสด็จขึ้นครองราชย์ ๑๕ ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๑๓๓ จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๑๔๘ ทรงอุทิศเวลาเกือบตลอดรัชสมัยให้กับการศึกสงครามเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความยิ่งใหญ่ให้กรุงศรีอยุธยาตลอดมา ทำให้ทรงไม่มีพระมเหสีและพระราชโอรสธิดา ดังนั้น เมื่อเสด็จสวรรคต พระเอกาทศรถจึงได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อมา


สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเชี่ยวชาญการรบยิ่ง ทรงฉลาดในการวางแผนยุทธวิธีและอุบายกระบวนศึกที่ไม่เหมือนผู้ใดในสมัยเดียวกัน ทรงเป็นผู้ริเริ่มการรบแบบกองโจร คือ ใช้คนน้อยแต่สามารถต่อสู้กับคนจำนวนมากได้ พระองค์มีความสามารถในการใช้อาวุธที่ทำการรบแทบทุกชนิดอย่างเชี่ยวชาญยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือนไม่ว่าจะเป็นปืน ดาบ ทวนหรือง้าว เป็นต้น


ฝีมือการรบของพระองค์นั้นเรียกได้ว่าเก่งกาจจนเป็นที่ครั่นคร้ามแก่ข้าศึกศัตรู ดังปรากฏในพงศาวดารพม่าพอสรุปได้ว่า วันหนึ่งพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ทรงตัดพ้อว่า ไม่มีใครที่จะอาสามาสู้รบกับกรุงศรีอยุธยาเลย ทั้งๆที่พระนเรศวรมีรี้พลแค่หยิบมือเดียว แต่ก็ไม่มีใครกล้าไปรบพุ่ง พระยาลอ ขุนนางคนหนึ่ง จึงทูลว่า กรุงศรีอยุธยานั้น สำคัญที่พระนเรศวรองค์เดียว เพราะกำลังหนุ่ม รบพุ่งเข้มแข็งทั้งบังคับบัญชาผู้คนก็สิทธิ์ขาดรี้พลทั้งนายไพร่กลัวพระนเรศวรยิ่งกว่ากลัวความตาย เจ้าให้รบพุ่งอย่างไรก็ไม่คิดแก่ชีวิตด้วยกันทั้งนั้น คนน้อยจึงเหมือนคนมาก ข้อความดังกล่าว เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพระบารมีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้อย่างชัดเจน



อาจกล่าวได้ว่าตลอดพระชนมชีพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไม่เคยทรงอยู่อย่างสะดวกสบายและต้องทรงกระทำการรบมาโดยตลอด กล่าวคือ เมื่อพระชนมายุ ๙ พรรษาก็ต้องไปเป็นตัวประกันที่หงสาวดีอยู่ ๖ ปี ครั้นเสด็จ กลับมากรุงศรีอยุธยาเมื่อพระชนมายุ ๑๕ พรรษา ปีต่อมาพระบิดาก็ส่งไปครองเมืองพิษณุโลก มีอำนาจบัญชาการหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด ได้ทรงจัดฝึกทหารแบบใหม่ พอพระชนมายุ ๑๙ พรรษาทรงยกกองทัพไปพร้อมพระบิดาเพื่อช่วยทัพหลวงกรุงหงสาวดีตีเมืองเวียงจันทร์ ครั้นพระชนมายุ ๒๓ พรรษา ได้ลงเรือไล่ติดตามพระยาจีนตุขุนนางจีนเมืองเขมรที่หนีไป โดยใช้พระแสงปืนยิงต่อสู้ด้วยพระองค์เอง อย่างไม่หวาดหวั่นหรือหลบกระสุนที่ยิงโต้กลับมาเลย จนศัตรูยิงถูกรางพระแสงปืนที่ทรงอยู่แตกไป

แม้จะจับพระยาจีนตุไม่ได้แต่ความกล้าหาญของพระองค์ก็เป็นที่เลื่องลือ ครั้นพระชนมายุ ๒๔ พรรษา ก็ทรงเป็นแม่ทัพไล่ตีพระทศราชา ซึ่งคุมกองทัพเขมรมาตีโคราชและหัวเมืองชั้นในจนได้ชัยชนะทั้งๆที่กำลังน้อยกว่ามาก จนเขมรขยาดไม่กล้ามารุกรานอีก พอพระชนมายุได้ ๒๖ พรรษาได้แสดงพระปรีชาสามารถในการวางแผนการรบจนตีเมืองคังได้สำเร็จ ขณะที่อีก ๒ กองทัพของพม่าตีไม่สำเร็จ พอพระชนมายุ ๒๙ พรรษาได้ยกทัพไปช่วยรบเมืองอังวะตามคำสั่งหงสาวดี และได้ทราบกลอุบายว่าทางพม่าจะกำจัดพระองค์ จึงแสร้งเดินทัพช้าๆ และต่อมาก็ได้ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง เมื่อพ.ศ. ๒๑๒๗ ทำให้กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นเมืองขึ้นของพม่ามา ๑๕ ปี ไม่ต้องขึ้นกับพม่าอีกต่อไป


ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าหงสาวดี (นันทบุเรง)จึงให้สุรกรรมายกทัพมาตามจับพระองค์ๆจึงได้ยิงปืนข้ามแม่น้ำสะโตงถูกสุรกรรมาตาย ต่อมาเมื่อมีพระชนมายุ ๓๕ พรรษา พระมหาธรรมราชา พระบิดาสวรรคต พระองค์จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ และได้ทรงสถาปนาพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราชา แต่ให้มีพระเกียรติสูงเสมอพระเจ้าแผ่นดินอีกองค์หนึ่ง ครั้นพระชนมายุ ๓๗ พรรษา ก็ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา พระชนมายุ ๔๐ พรรษาเสด็จยกทัพไปตีเมืองเขมร จับพระยาละแวกมาทำพิธีปฐมกรรม (คือตัดศีรษะเอาโลหิตมาล้างพระบาท) และแม้แต่ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ พระองค์ก็ยังอยู่ในระหว่างการยกทัพไปตีเมืองอังวะ แต่เกิดประชวรเป็นหัวระลอก (ฝี)ที่พระพักตร์และเป็นพิษจนเสด็จสวรรคตเสียก่อนในปีพ.ศ. ๒๑๔๘ รวมสิริพระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา ทรงครองราชย์เป็นระยะเวลา ๑๕ ปี


ในหนังสือ ๔๐๐ ปีสมเด็จพระนเรศวร ที่เรียบเรียงโดยนายสมชาย พุ่มสอาด นายสมพงษ์ เกรียงไกรเพชร และนายกมล วิชิตสรศาสตร์ ได้เขียนไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นกษัตริย์ที่ปรากฏว่าทรงรอบรู้ศิลปศาสตร์ ถึง ๑๘ อย่าง อันเป็นวิทยาการสำคัญสำหรับขัตติยราชในโบราณอย่างยอดเยี่ยม เช่น ทรงรอบรู้ในยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ ทรงรอบรู้หลักและวิธีปฏิบัติเพื่อปกครองใจคน อันเป็นหลักการเดียวกับปัจจุบัน และยังทรงรอบรู้อรรถภาษิต โวหาร รู้แต่งและฟังฉันท์ ทรงรู้ฤกษ์ยาม และวิธีโคจรของดาวหรือดาราศาสตร์ ทรงรู้ทิศและพยากรณ์ อีกทั้งทรงรู้มายาเล่ห์เหลี่ยมและเหตุผลต่างๆ เป็นต้น


ซึ่งความรู้เหล่านี้ทรงศึกษาจากพราหมณ์ ปุโรหิตบ้าง จากพระบิดาโดยตรงบ้าง แต่ส่วนใหญ่ทรงศึกษาจากประสบการณ์ของพระองค์เอง รวมทั้งประสบการณ์จากเมืองพม่าเมื่อครั้นไปเป็นตัวประกันอยู่หงสาวดี ทรงเป็นบุรุษที่มีคุณสมบัติเป็นชายชาติทหารสมกับเป็นนักปกครองอย่างเต็มเปี่ยม คือ ทรงมีความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง อีกทั้งยังมีน้ำใจห้าวหาญ เด็ดขาด และมีฝีมือในการต่อสู้ยิ่ง


จากพระราชประวัติโดยสังเขปข้างต้น คงจะทำให้เด็กๆเยาวชน และเราได้ซาบซึ้งและภาคภูมิใจในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ของไทยยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ตลอดพระชนมชีพได้ทรงอุทิศพระองค์เพื่อบ้านเมือง และอาณาประชาราษฎร์มาโดยตลอด จึงขอเชิญชวนให้พวกเราที่เป็นอนุชนรุ่นหลังได้ปฏิบัติหน้าที่ของเราอย่างเต็มกำลังความสามารถด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตให้สมกับที่พระองค์ท่านได้เสียสละเลือดเนื้อเพื่อรักษาชาติ รักษาแผ่นดินจนตกมาถึงพวกเราในปัจจุบัน
................................................

วันครู

มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความ เห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษา ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู
 
     ด้วยเหตุนี้ในทุก ๆ ปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบ ข้อสงสัยสถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา ปี พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า
 
ครูคือผู้ให้แสงสว่าง 
 
     “ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือ ว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บันดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง”
 
     จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความคิดเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่น ๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครู ในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติ เห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครู กับประชาชน
 
     ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น “วันครู” โดยเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488 เป็นวันครูและให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้
 
     ในทางพระพุทธศาสนาของเรานี่ ครูผู้ยิ่งใหญ่ของเราคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระบรมครูนั่นเอง เรารู้จักพระพุทธเจ้าในฐานะ ผู้เป็นพระบรมครู ศาสดาเอกของโลก   เราจึงควรศึกษาของดีๆ ที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างกว้างขวาง
 
พระบรมครู
 
     พระพุทธเจ้าในสมัยเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ทรงได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี จากอาจารย์ที่มีชื่อเสียง คือ อาจารย์วิศวามิตร วิชาที่ทรงศึกษา คือ ศิลปศาสตร์ 18 ประการ อันเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้จะเป็นกษัตริย์ จะต้องศึกษาศิลปศาสตร์ 18 ประการ คือ
 
1. ยุทธศาสตร์  วิชานักรบ
2. รัฐศาสตร์  วิชาการปกครอง
3. นิติศาสตร์   วิชากฎหมายและจารีตประเพณีต่างๆ
4. พาณิชยศาสตร์  วิชาการค้า
5. อักษรศาสตร์  วิชาวรรณคดี
6. นิรุกติศาสตร์  วิชาภาษาทั้งของตน และของชนชาติ ที่เกี่ยวข้องกัน
7. คณิตศาสตร์  วิชาคำนวณ
8. โชติยศาสตร์  วิชาดูดวงดาว
9. ภูมิศาสตร์  วิชาดูพื้นที่ และรู้จักแผนที่ของประเทศต่างๆ
10.โหราศาสตร์  วิชาโหรรู้จักพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ
11.เวชศาสตร์  วิชาแพทย์
12.เหตุศาสตร์  วิชาว่าด้วยเหตุผล หรือตรรกวิทยา
13.สัตวศาสตร์  วิชาดูลักษณะสัตว์ และรู้เสียงสัตว์ว่าดี หรือร้าย
14.โยคศาสตร์  วิชาช่างกล
15.ศาสนศาสตร์  วิชาศาสนารู้ความเป็นมา และหลักศาสนาทุกศาสนา
16.มายาศาสตร์  วิชาอุบาย หรือตำหรับพิชัยสงคราม
17.คันธัพพศาสตร์ วิชาร้องรำหรือนาฎยศาสตร์ และวิชาดนตรีหรือดุริยางค์ศาสตร์
18.ฉันทศาสตร์   วิชาการประพันธ์
     พระพุทธเจ้าทรงศึกษาศิลปศาสตร์ 18 ประการนี้ จนมีความรู้แตกฉาน ยากที่หาใครเสมอเหมือนได้ จึงกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงมีความรู้ ในทางโลกเพียบพร้อม เป็นอย่างดีอยู่แล้ว เมื่อได้เสด็จออกบรรพชา พระองค์ทรงได้ศึกษาเพิ่มเติมจากอาฬารดาบส และอุททกดาบส ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา และทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตใจ จนได้ตรัสรู้ พระองค์จึงทรงพร้อมที่จะสอนบุคคลทุกชั้น ตั้งแต่คนธรรมดา จนถึงนักปราชญ์ และเทวดา  ทุกโอกาสและสถานที่ เราลองมาพิจารณาการสอนแบบพระพุทธเจ้ากัน

ทรงพร้อมที่จะสอน
ทรงสอนด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
ทรงสอนโดยมีจุดมุ่งหมาย
ทรงสอนโดยคำนึงถึงความพร้อมของผู้ฟัง
ทรงสอนโดยคำนึงถึงความแตกต่างฯ
ทรงสอนโดยใช้สื่อภาษาที่เข้าใจง่าย
ทรงสอนจากสิ่งที่รู้ไปหาสิ่งที่ไม่รู้
ทรงสอนจากยากไปหาง่าย
ทรงสอนโดยจัดคำสอนเป็นข้อๆ
ทรงสอนตามความเข้าใจของผู้อื่น
ทรงสอนโดยวิธีซักถาม
ทรงสอนให้ผู้ฟังลงมือปฎิบัติ
ทรงสอนโดยใช้อุปกรณ์การสอน
ทรงสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาฯ
 
     แหละนี่คือ หลักการสอนการปฏิบัติตนของพระบรมครูผู้ยิ่งใหญ่ของโลกนี่ ที่เราทุกคนควรนำหลักไปปฏิบัติ เพื่อให้สันติสุขบังเกิดขึ้นแก่โลกใบนี้

วันกาชาดไทย

คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศกำหนดให้ 8 พฤษภาคม ของทุกปีซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ อังรี ดูนังต์ เป็น วันกาชาดสากล

  เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ.2402 การรบระหว่างกองกำลังร่วมของฝรั่งเศสอิตาลีกับกองกำลังของออสเตรีย บริเวณใกล้หมู่บ้านซอลเฟริโน ตอนเหนือของอิตาลี ทหารบาดเจ็บและล้มตายจำนวนมาก เพราะขาดแพทย์พยาบาล
  ฌอง อังรี ดูนังต์ (Jean Henri Dunant) นักธุรกิจการธนาคารชาวสวิส สลดใจกับเหตุการณ์ที่พบ จึงรวบรวมแพทย์ชาวออสเตรียและกลุ่มนักเรียนแพทย์อิตาเลียนเข้าช่วยเหลือ โดยไม่เลือกฝ่าย
  และเมื่อเดินทางกลับกรุงเจนีวาได้เขียนบทความชื่อ ความทรงจำจากประเทศอิตาลี และ เก้าบทความ บรรยายเหตุการณ์ที่พบ พร้อมเสนอแนะว่า ควรเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือการพยาบาลให้พร้อมในยามสงบ เมื่อมีสงครามจะได้ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้ทันท่วงที และขอให้ทหารทุกฝ่ายอย่ายิงเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ ซึ่งความช่วยเหลือเหล่านี้ยังเป็นประโยชน์ในยามเกิดทุพภิกขภัยธรรมชาติอีกด้วย

  การบุกเบิกของเขาร่วมกับ กุสต๊าฟ มัวนิเอร์ ทนายความคนสำคัญ ทำให้กาชาดประสบความสำเร็จ
และเกิดการประชุมระหว่างประเทศ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีผู้แทนจาก 16 ประเทศเข้าร่วมประชุม
  จากข้อเสนอแนะในหนังสือของ อังรี ดูนังต์ ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า
1. ควรมีสมาคมขึ้นในทุกประเทศ เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์แก่ผู้คนในยามสงคราม
2. เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ ทหารที่บาดเจ็บ ตลอดจนเครื่องหมายกาชาด (กากบาทสีขาวบนพื้นสีแดง) ปรากฏที่ใด ต้องถือเป็นกลาง ไม่ใช่คู่สงคราม
  และจึงก่อตั้ง คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross : ICRC) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศดำเนินนโยบายเป็นกลาง

  ต่อมา พ.ศ.2413 ประเทศสมาชิกก่อตั้ง 22 ประเทศร่วมลงนามในอนุสัญญาเจนีวาเพื่อตกลงยอมรับและปฏิบัติตามข้อตกลงของสภากาชาดคือ
1. ดูแลรักษาเยียวยาทหารที่ได้รับบาดเจ็บในยามสงคราม
2. ดูแลเชลยศึกทุกคนให้ได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสม
3. ให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัยทุกอย่างและทุกแห่งทั่วโลก

  ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกกว่า 74 ประเทศ
สภากาชาดในแต่ละประเทศจะเป็นองค์กรอิสระ สามารถจัดวางแผนงานของตนให้เหมาะสมกับความต้องการของตนเองได้